รีวิวข้อสอบ PAT1 ยุคปัจจุบัน (2559-2561)
วิเคราะห์ข้อสอบ
หากพูดถึงข้อสอบ PAT1 หรือ การสอบ PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์แล้ว เชื่อว่านักเรียนชั้น ม.6 ร้อยละ 95 จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นวิชาที่ยาก ซับซ้อนมาก อ่านไปกับไม่อ่าน แทบจะทำคะแนนได้พอๆ กัน ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริง เพราะข้อสอบในสมัยก่อน เมื่อซัก 3-4 ปีก่อน ออกมาได้ยาก และ ซับซ้อนมากทีเดียว จนเด็กหลายคนพากันท้อ เลือกเท PAT1 ไปเก็บวิชาอื่นดีกว่า แต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ ช่วง ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2561 ข้อสอบ PAT1 ได้ปรับลดความยาก ความซับซ้อนลงมามากเลยทีเดียว ส่งผลให้นักเรียนระดับปานกลาง ที่พอมีความรู้บ้าง จำสูตรไป ทำโจทย์ไปบ้างพอสมควร พอที่จะทำคะแนนได้ดีขึ้น ถึงแม้คะแนนเฉลี่ยในระดับประเทศ อาจจะพอๆ กัน แต่ถ้าดูในช่วงคะแนน คนที่ทำคะแนนได้ในช่วง 90 คะแนนขึ้นไป มีมากขึ้น กว่าครั้งก่อนๆ รวมถึงช่วงคะแนนสูงสุด 270.00-300 มีผู้ทำคะแนนได้มากถึง 79 คน ซึ่งหากเป็น PAT1 ปีก่อนๆ ผู้ทำคะแนนได้ในช่วงนี้มักจะมีแค่ ไม่กี่คนเท่านั้น เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดว่า ตัวข้อสอบมีความง่ายลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อสอบแบบถามตรงไปตรงมา แทนสูตรตรงๆ คิดเลขนิดเดียวออก มีจำนวนมากขึ้น ข้อสอบระดับยาก ซับซ้อน ที่ต้องใช้ความคิดมากมีเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น ( ประมาณ 5 ข้อ ) ซึ่งการออกข้อสอบแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะในปัจจุบัน คณะที่ต้องใช้คะแนน PAT1 ในการสอบเช้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้นมีค่อนข้างมาก เช่น บัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหาร นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นต้น ดังนั้นการออกข้อสอบที่ง่ายลง ทำให้เด็กระดับปานกลาง ที่ไม่ได้เก่งมาก ทำข้อสอบได้ ถือว่าทำให้เด็กทั่วไป ที่มักเกลียดวิชาคณิตศาสตร์ มีกำลังใจที่จะอ่านวิชานี้มากขึ้นนั่นเอง
แนวทางการเตรียมตัวสอบ
เทคนิคการเตรียมตัวสอบ PAT1 ในปัจจุบันให้ได้ผลดี นั้นควรจะเก็บเนื้อหา คณิตศาสตร์ ม.ปลาย ทั้งหมดให้จบตั้งแต่ ม.5 เพื่อที่ว่าช่วง ม.6 จะได้มีเวลา ไปตะลุยโจทย์ข้อสอบเก่าได้เยอะ เพราะยิ่งมีเวลาเยอะ เวลาเราทำโจทย์ไปเรื่อยๆ เราก็จะพบกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ทำข้อสอบไม่ทัน ลืมสูตร ลืมทฤษฎีบทสำคัญๆ คิดเลขผิด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเวลาสอบจริง ดังนั้นแนวทางแก้ไข ก็คือ รีบเก็บเนื้อหาทั้งหมด ให้จบ จากนั้น ก็มาตะลุยโจทย์แบบทำทีละบทไปก่อน ระหว่างฝึกทำจะเปิดหนังสือเพื่อดูสูตรไปก่อนก็ได้ถ้ายังจำสูตรไม่ได้ เพราะการทำข้อสอบไป ดูสูตรไป ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าอาย แถมจะทำให้เราจำสูตรได้ดียิ่งขึ้น เพราะได้เขียนบ่อยๆ จากนั้นพอเก็บโจทย์ข้อสอบเก่าได้เยอะพอแล้ว ( ข้อสอบเก่าที่ควรจะเก็บ เช่น ข้อสอบ PAT1 เก่าตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน รวมถึงข้อสอบ เอ็นทรานซ์ ตั้งแต่ปี 2520-2548 และข้อสอบ A-NET ปี 2549-2552 ) ก็ลองไปทำข้อสอบเก่าแบบจับเวลาจริงดู โดยทำตัวเหมือนสอบจริง ไม่เล่นคอม เล่นมือถือไป ทำข้อสอบไป จับเวลาตามนั้นจริงๆ เช่น หน้าปกข้อสอบ มีเวลา 2 ชม ก็ควรทำ 2 ชม จริงๆ ( ควรเผื่อเวลาไว้ฝนอีกซัก 10-15 นาที ด้วย เพราะในการสอบจริง จะต้องฝนคำตอบในกระดาษคำตอบ ซึ่งเสียเวลามากทีเดียว ) จากนั้น พอหมดเวลาก็ให้หยุดทำ แล้วมาตรวจคำตอบ ดูว่า เราทำได้กี่คะแนน แต่ไม่ควรตกใจกับคะแนนสอบของตัวเองในช่วงแรกๆ เพราะเราอาจทำได้เพียง 30-40 คะแนน เต็ม 100 ในชุดข้อสอบเอ็นทรานซ์ และ A-NET หรือ 50-90 คะแนนเต็ม 300 ในชุด PAT1 ซึ่งไม่ใช่เรื่ิองน่าตกใจซักเท่าไหร่ เพราะเราพึ่งมาฝึกทำครั้งแรกๆ เราก็จะได้เห็นปัญหาของเราในการทำข้อสอบ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และควรจดปัญหาในการทำข้อสอบชุดนั้นเก็บไว้ดู เพื่อที่จะไม่ผิดพลาดอีก และเมื่อทำข้อสอบในชุดถัดไป เรื่อยๆ ให้เราดูผลคะแนน ในครั้งถัดๆไป ว่าควรจะมีคะแนนดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำข้อสอบได้ดีขึ้น จำนวนโจทย์ข้อสอบ ที่จะฝึกทำในแต่ละวัน ไม่ต้องทำเยอะมาก ประมาณ 10-20 ข้อ หรือ ประมาณ 1-2 ชม ก็เพียงพอแล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องฝึกทำทุกวันหรือเกือบทุกวัน เพราะ วิชาเลข เป็นวิชาทักษะ ที่จะต้องอาศัย ประสบการณ์ ความต่อเนื่อง ในการทำโจทย์ จึงจะประสบผลสำเร็จได้ดี ถ้าน้องๆ ทำได้ตามคำแนะนำนี้ รับรองว่าผลการสอบ PAT1 จะต้องได้คะแนนดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจอย่างแน่นอน